fbpx

จะเรียกตัวเองได้ว่าคอกาแฟตัวจริง ต้องลองชิมกาแฟ Single Origin กันดูซักที

นึกย้อนไปในวันที่ผมยืนงงอยู่หน้าเมนูบอร์ดเพื่อที่จะสั่งกาแฟสตาร์บัคส์แก้วแรก ลาเต้เย็นอันแสนแพงจำได้ว่าราคา 115 บาท ดูดปื้ดเข้าไปคำแรก ยิ่งงงหนักไปกว่าเดิมคือหอมมากแต่ขมและไม่หวานเลย ไม่เหมือน “กาแฟสด” หวานมัน ที่เราเคยกินตอนนั่งรถผ่านขึ้นไปทางภาคเหนือ หลังจากนั้นผ่านมากว่า 20 ปี ร้านกาแฟในประเทศไทยและความเข้าใจใฝ่รู้ของเพื่อนๆที่ชอบในเครื่องดื่มอันหอมหวลนี้ ก็เติบโตกันมาอย่างไม่น่าเชื่อ

แต่แล้ววันนี้เทรนด์ใหม่ก็มาเพิ่มเติม สังเกตุได้ว่าเวลาเราเข้าไปร้านกาแฟ เรามักจะเห็นคำว่า “Single Origin Coffee” อยู่ในเมนูของหลายๆร้านมากขึ้น บางคนก็อาจจะพอทราบดีอยู่แล้ว แต่บางคนก็อาจจะงงๆ ว่ามันคืออะไรกันแน่ ปกติก็สั่งแค่อเมริกาโน่ เอสเพรสโซ่ ลาเต้… (กว่าจะเข้าใจเมนูสตาร์บัคส์กันได้ไม่นาน ของใหม่ก็มากันอีกแล้วครับ)

จริงๆ แล้ว Single Origin Coffee ก็คือกาแฟที่มาจากแหล่งเพาะปลูกเดียว เช่น กาแฟจาก Ethiopia, Kenya, Brazil…..ส่วนกาแฟที่ปกติเราดื่มๆ กันตามร้าน ส่วนใหญ่มักจะเป็นกาแฟ Blend ซึ่งก็คือกาแฟที่ได้จากแหล่งเพาะปลูกหลายแห่งมาผสมรวมกัน เพื่อให้ได้รสชาติตามที่บาริสต้าหรือเจ้าของร้านต้องการ

กาแฟ Single Origin มีดีอะไร ทำไมคนถึงเริ่มสนใจดื่มกันมากขึ้น

การที่คนเริ่มให้ความสนใจกาแฟ Single Origin กันมากขึ้นเป็นเพราะความชื่นชอบใน Character ที่ชัดเจนทั้งรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแหล่งเพาะปลูก ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีสภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ สายพันธุ์กาแฟ การดูแลและการเก็บเกี่ยว รวมทั้งกระบวนการผลิตที่แตกต่างกัน เลยทำให้กาแฟแต่ละแหล่งมีรสชาติและกลิ่นที่แตกต่างกันไป ซึ่งนี่ถือเป็นเสน่ห์และจุดเด่นของกาแฟ Single Origin เทียบเคียงได้กับการจิบไวน์ละมุนๆซักแก้วได้เลยครับ

ความรู้เบื้องต้นสำหรับมือใหม่ในการเลือกกาแฟ Single Origin

แล้วจะเริ่มต้นยังไง? ต้องเลือกสั่ง หรือถูกใจแบบไหน? คำถามเหล่านี้ก็น่าจะเกิดกับเพื่อนๆหลายๆคน ที่เริ่มสนใจดื่มกาแฟประเภทนี้เช่นกัน เนื่องจากกาแฟ single origin มีมากมายจากหลายประเทศ มี process และระดับการคั่วที่ต่างกัน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราควรจะเลือกแบบไหนดี แน่นอนครับเราควรเริ่มด้วยการตามหารสชาติกาแฟที่จะถูกใจเราก่อนเป็นอันดับแรก

กาแฟจะมีรสชาติเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย ซึ่งหลักๆก็คือ พื้นที่ปลูก ภูมิประเทศ อากาศ ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล สายพันธุ์ การดูแลและเก็บเกี่ยว กระบวนการผลิตและแปรรูป รวมทั้งการคั่วและการชงอีกด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่มีความละเอียดและซับซ้อนพอสมควรเลยทีเดียว ดังนั้นในบทความนี้ผมจะขอพูดถึงเฉพาะเรื่องของการแยกแหล่งโซนปลูกเป็นทวีปต่างๆ ที่มีผลทำให้เกิดความแตกต่างของรสชาติกาแฟในเบื้องต้น เพื่อไม่ให้การเริ่มต้นประสบการณ์เกี่ยวกับกาแฟของเพื่อนๆ ยุ่งยาก วุ่นวาย จนเกินไป

แต่ก่อนอื่นขออนุญาตแตะเรื่องภูมิศาสตร์ของกาแฟแบบเบาๆ เรื่องข้อจำกัดของแหล่งเพาะปลูกกาแฟกันก่อน เพื่อทำให้เพื่อนๆเห็นภาพกาแฟบนแผนที่โลกได้ง่ายขึ้นนะครับ เนื่องจากกาแฟเป็นผลไม้ จึงต้องการอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่หนาวเและไม่แล้งจนเกินไป มีปริมาณน้ำฝนที่พอเหมาะ เพื่อให้ผลิดอกออกผลได้ และด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ ทำให้มีพื้นที่ที่ปลูกกาแฟได้จำกัดอยู่ในบริเวณที่ไม่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากนัก คือ ระหว่างช่วงละติจูดที่ 23.5 องศาเหนือ (Tropic of Cancer) ถึงละติจูดที่ 23.5 องศาใต้ (Tropic of Capricorn) พื้นที่บริเวณนี้จึงถูกเรียกว่า “coffee bean belt” และ เราสามารถมองทวีปที่ปลูกกาแฟได้เป็นสามโซนหลักๆคือ The Americas, Africas, และ Asia โดย guide ข้างล่างนี้ผมต้องขออนุญาตออกตัวก่อนนะครับว่าเป็น guide คร่าวๆ เพื่อให้เพื่อนๆที่อยากจะชิมกาแฟประเภทนี้ได้มี guideline สำหรับเริ่มต้นครับ (เลือกซื้อกาแฟ Single Origin)

สายถั่ว และ คาราเมล ไปทาง The Americas

พื้นที่ในทวีปอเมริกาที่สามารถปลูกกาแฟได้ เราจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่

• อเมริกากลาง (Central America): ประเทศที่โด่งดังในการปลูกกาแฟที่เรามักจะคุ้นหูกัน ก็คือ Costarica, Guatemala, และ Panama

• อเมริกาใต้ (South America) ก็จะมีประเทศ Brazil ซึ่งเป็นประเทศที่มีการผลิตกาแฟมากที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังมี Columbia, Ecuador และประเทศอื่นๆอีก

Character ด้านรสชาติของกาแฟในทวีปนี้โดยรวมแล้วรสชาติจะออกแนวกลมกล่อม คือไม่เปรี้ยวหรือขมเกินไป หรือที่ภาษาในวงการกาแฟเรียกกันว่า well balanced ส่วน Taste Notes ที่โดดเด่น ส่วนมากจะเป็น chocolate, nuts, caramel และก็อาจจะมีรสชาติของผลไม้จำพวก Berry ได้บ้าง ซึ่งโดยภาพรวม กาแฟในแถบนี้ก็ถือว่าเหมาะกับคนที่จะเริ่มต้นดื่มกาแฟแบบ Single Origin เพราะกาแฟมี Body ปานกลาง ไม่เข้มหรืออ่อนจนเกินไป ไม่เปรี้ยวมาก และมีความหวานบ้างเล็กน้อย (เลือกซื้อกาแฟ America)

Africas พาผลไม้ ส้ม และ ดอกไม้อ่อนๆ มาแตะจมูก

เมื่อพูดถึงกาแฟ Africa เราคงจะนึกถึง กาแฟที่มาจากประเทศ Ethiopia เป็นอันดับแรก ซึ่ง Ethiopia มีประวัติศาสตร์ยาวนานเกี่ยวกับกาแฟ คือเป็นที่แรกที่มนุษย์ค้นพบผลกาแฟ (Coffee cherry) และนำมันมาแปรรูปเป็นกาแฟ จนเป็นเครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมไปทั่วโลกในทุกวันนี้ ซึ่งนอกจากประเทศ Ethiopia แล้ว ก็ยังมี Kenya Rwanda และ Yemen ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมอีกด้วยเช่นกัน

Character ของกาแฟ Africa มี Taste notes ที่โดดเด่นไปทาง fruity จำพวก Citrus, Berry ซึ่งมี acidity ค่อนข้างเยอะ จึงทำให้มีรสเปรี้ยวแบบผลไม้ และอาจมีกลิ่นหอมของดอกไม้แฝงอีกด้วย ด้วยรสชาติที่เปรี้ยวหวานฉ่ำและกลิ่นที่หอมละมุนนี้เองทำให้หลายๆ คนสนใจและหลงรักกาแฟที่มาจากทวีปนี้มากขึ้น (เลือกซื้อกาแฟ Africas)

Asia ก็มีดี

ในทวีป Asia Vietnam และ ​Indonesia เป็นประเทศที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทสำคัญในด้านการผลิตกาแฟ โดย Vietnam ถือเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกกาแฟมากเป็นอันดับสองของโลกรองมาจากบราซิล ตามมาด้วย Indonesia ที่มีกาแฟดังๆอย่างเช่น Sumatra และ Java ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบไปทั่วโลกและขึ้นชื่อด้านความหนักแน่นของ body กาแฟ

ส่วนประเทศไทยของเรานั้นก็สามารถปลูกกาแฟได้เช่นกัน และในปัจจุบันนี้กาแฟ Single Origin จากดอยต่างๆของเราก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะกาแฟล็อตพิเศษเช่น honey processed ที่มีความช่ำหวานผลไม้อย่างชัดเจน

Character โดยรวมของกาแฟในแถบเอเชียมีความโดดเด่นในเรื่อง Body ที่ค่อนข้างเข้มข้นพอสมควร แต่ยังคงมีความละมุนอยู่ด้วย ส่วน Taste Notes ส่วนใหญ่จะเป็น dark chocolate, nuts และอาจแฝงด้วยกลิ่นเครื่องเทศ และ earthy อีกด้วย (เลือกซื้อกาแฟ Asia)

เสน่ห์แห่งความแตกต่าง ในประสบการณ์ใหม่ๆด้านการดื่มกาแฟ

มาจนถึงตอนนี้ เพื่อนๆก็คงพอจะมีไอเดียแล้วว่า คราวหน้าจะสั่ง หรือเลือกซื้อกาแฟ Single Origin แบบไหนดี สิ่งที่ผมจะแนะนำท้ายที่สุดแล้วก็คือ ให้มองการดื่มกาแฟยุคใหม่เป็นเหมือนการเดินทางให้รางวัลกับชีวิต วันนี้เราอาจจะไปบราซิลเบาๆช่วงบ่าย พรุ่งนี้ไปโผล่ในดงผลไม้ที่เคนย่า เช้าวันถัดมาขึ้นไปสัมผัสหมอกบนดอยที่เชียงราย ลองดื่มกาแฟจากหลายแหล่งปลูกไปเรื่อยๆครับ ไม่มีอะไรผิดหรือถูก มีแต่ว่าใครชอบแบบไหนมากกว่า ท้ายที่สุด coffee journey ของเราเป็นอะไรที่มีเสน่ห์มากๆ และหวังว่าเราจะได้เดินบนเส้นทางกาแฟนี้เคียงข้างกันไปเรื่อยๆ ตลอดไปครับ

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Leave the field below empty!