เชื่อได้เลยว่าหลายท่านที่ลองทานกาแฟดริปไม่ว่าจะเป็นเพื่อนชงให้ชิม หรือ ลองครั้งแรกที่ร้าน โดยมากแล้วรสชาติแรกที่ได้ส่วนมากจะเป็นรสเปรี้ยว ซึ่งแรกๆ น่าจะไม่ถูกใจเท่าไหร่ เช่นกันกับพวกเราตอนแรกๆ ก็ไม่ถนัดที่จะทานกาแฟที่ค่อนข้างเปรี้ยวพวกนี้ ซึ่งต้องใช้เวลาซักพักนึงกว่าที่จะชินจนเปลี่ยนมาเป็นความชื่นชอบ และเชื่อมั้ยครับว่าหลังจากได้มาทำกาแฟของ bevcoffee.com ให้เพื่อนๆ และ ลูกค้าได้ลองทาน ในการคั่วโปรไฟล์ที่คั่วกลางค่อนอ่อนที่เป็นกาแฟที่มี acidity บ้าง แรกๆ หลายๆ คนกังวลเรื่องความเปรี้ยวกันมาก แต่ในจำนวนหลายๆท่านที่ถามว่าเปรี้ยวมั้ย เปรี้ยวมากมั้ย แค่หนึ่งในสิบคน หรือ 10% ของลูกค้าที่ทราบว่ากาแฟที่เรานำเสนอนั้นเปรี้ยวเล็กน้อยแล้วเลือกที่จะไม่ซื้อ แต่มากกว่า 80% เลือกที่จะลองแล้วกลับมาซี้อกาแฟที่เปรี้ยวกว่าเดิม เช่นกาแฟสายฟรุ้ตตี้จาก Ethiopia หรือ Kenya เลยถือโอกาสนี้มาแชร์เหตุผล 3 ข้อ ที่อยากให้ผู้ที่ชื่นชอบกาแฟ ได้มาลองกาแฟที่มีติดเปรี้ยวกันมากขึ้นบ้างครับ
Acidity กับ Sour ไม่เหมือนกัน
คำพูดของกาแฟเกี่ยวกับความเปรี้ยวที่เรียกว่า acidity นั้น ไม่ได้แปลถึงความเปรี้ยวที่เป็นสิ่งไม่ดีแบบที่แปลตรงตัวเลยว่า “กาแฟเปรี้ยว” เพราะ acid ในตัวกาแฟนั้นจะมาพร้อมกับกลิ่นและรสชาติที่ดีไม่ต่างจากผลไม้หลายๆอย่างที่เราชอบทานกันเช่น แอปเปิ้ล หรือ ส้ม ที่ในความมีรสชาติหวานหอมจะมีความเปรี้ยวแฝงอยู่เล็กน้อย เป็นสิ่งที่เติมเต็มให้รสชาติกลมกล่อมและสดชื่น แต่ด้วยที่เราคุ้นเคยกับรสชาติผลไม้ที่มีติดเปรี้ยวเล็กน้อยในความหวานนั้นๆ ทำให้เราไม่รู้สึกแปลกกับมัน แล้วความเปรี้ยวแบบที่คนกาแฟเรียกกันว่า acidity นั้นเป็นสิ่งที่ดีและพึงประสงค์ เพราะมันมาพร้อมกับความหอมและหวานไม่ต่างจากผลไม้ต่างๆ (ในมุมของคนชอบกาแฟที่เปรี้ยวเล็กน้อยบ้างแล้ว) ซึ่งไม่เหมือนกับความเปรี้ยวเกินไปหรือรสเปรี้ยวที่เราๆ ไม่ชอบดมหรือกลืนกินที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า sour เหมือนกับการกินน้ำมะนาวเพียวๆ หรือ ให้ดมและชิมน้ำส้มสายชูนั่นเอง
Acidity หรือความเปรี้ยวของของกาแฟยุคใหม่ เป็นสิ่งดีๆ ที่คอกาแฟชื่นชอบ เพราะมาพร้อมกับรสชาติ และ กลิ่นอโรมา ที่มากกว่า
ปัจจุบันกาแฟยุคใหม่ ที่ roaster หรือ คนคั่วกาแฟพยายามคั่วเพื่อให้มี acidity และ aroma เด่นๆ เพื่อคงรสชาติเอกลักษณ์ของตัวกาแฟเองเอาไว้ จะแปรผกผันตามตรงกับระดับการคั่วโดยตรง ถ้าคั่วเข้มขึ้นความเปรี้ยวของกาแฟก็จะลดลง และในทางกลับกัน การคั่วอ่อนก็จะมี acidity ที่สูงกว่า ทำให้การตั้งใจคั่วกลางลงมาจนคั่วอ่อนของกาแฟกระแสใหม่หรือกาแฟ single origin ในยุคปัจจุบันก็เพื่อต้องการคงรสชาติและกลิ่นหลักๆ ของกาแฟตัวนั้นๆ แต่ก็ต้องเป็นการคั่วที่ไม่อ่อนจนเกินไปจนเมล็ดกาแฟไม่สุก ทำให้เปรี้ยวเกินไปแบบไม่อยากกลืน หรือ มีกลิ่นติดเขียวๆ ที่ไม่พึงประสงค์นั่นเองครับ
การเปิดรับความเปรี้ยวเล็กน้อยของกาแฟ จะขยายโลกกาแฟของคุณ ให้ได้ลองชิมกาแฟหลากหลายมากขึ้น
อย่างเช่น หากเพื่อนๆ อยากลองชิมกาแฟที่มีกลิ่นหอมๆ เหมือนผลไม้ โดยมากแล้วกาแฟพวกนี้จะถูกคั่วในระดับที่ไม่เข้มจนเกินไป ทำให้มี acidity ที่มาพร้อมกับกลิ่นผลไม้ซึ่งจะมากหรือน้อย ก็จะขึ้นอยู่กับอีกหลายๆปัจจัยเช่น แหล่งหรือประเทศที่ปลูก สายพันธุ์ การโปรเสส และระดับการคั่วตามที่ได้บอกไปแล้ว ซึ่งการเริ่มเปิดใจลองชิมกาแฟที่มีรสเปรี้ยวเหล่านี้ จะขยายฐานการเลือกกาแฟของคุณเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกาแฟที่มีเทสโน้ตผลไม้เป็นหลัก และ มี acidity ค่อนข้างสูงเช่นกาแฟจากทวีปแอฟริกา เช่น Ethiopia หรือ Kenya โดยเพื่อนๆ จะสังเกตุได้จากหน้าถุงว่ากาแฟเหล่านี้จะมีเทสโน้ตออกไปทางผลไม้เป็นส่วนมาก (insert ถุงกาแฟ bevcoffee และ อธิบายเล็กน้อย) ซึ่งอ่านแล้วดูน่าทาน น่าลองชิมเป็นอย่างมาก แต่แน่นอนสิ่งที่จะตามมาก็คือเจ้าความเปรี้ยวอันดีงามที่เราเรียกกันว่า “acidity” นั่นเอง
รสชาติที่ชื่นชอบในกาแฟที่ทุกคนอยากจะลองก็คงแตกต่างกันออกไป บางท่านอาจจะชอบดื่มกาแฟเปรี้ยวมาก เปรี้ยวน้อย หรือ กาแฟเข้มแบบไม่เปรี้ยวเลยแต่ยังไงก็ดี การนำเสนอในรูปแบบกาแฟ single origin ที่คั่วอ่อนกว่าเดิมที่เราๆคุ้นเคย มีความเปรี้ยวสดชื่น ที่มาพร้อมกับอโรม่าหอมๆ น่าจะยังอยู่และเป็นเทรนด์ไปอีกนานในวงการกาแฟบ้านเราเฉกเช่นการเปิดรับการดื่มอะไรใหม่ๆ เช่น wine ที่คอวิสกี้ หรือ เบียร์ สายขมทั้งหลาย ที่ในช่วงแรกคงไม่คุนเคยกับความเปรี้ยวของไวน์แต่ละแก้วที่ดื่มกันครั้งแรก แต่ในปัจจุบันแทบทุกคนก็ชื่นชอบความหวานปนเปรี้ยวในระดับที่แตกต่างกันของไวน์ประเภทต่างๆ ซึ่งไม่ต่างกับกาแฟแบบ single origin หรือ specialty ในอนาคตอย่างแน่นอนครับ